
การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์จะมีผลอย่างไรต่อวิถีการดำเนินชีวิต และประเทศไทยจะหาประโยชน์จากเมืองสร้างสรรค์ได้อย่างไร
ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ จะเป็นการดึงดูดการลงทุน สร้างงาน เพิ่มรายได้ และยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นการขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การท่องเที่ยว และการบริการ และยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ เช่น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา, การสร้างระบบทางการเงิน
ประโยชน์ในเชิงสังคม เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ (เช่น ห้องสมุด, ศูนย์การเรียนรู้, พิพิธภัณฑ์) มีการจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาของสังคมที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างมูลค่า และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์
ประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพของเมือง ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงภูมิทัศน์ และเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมแผนบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของเมือง อย่างไรก็ดีอาจเกิดผลกระทบเชิงลบได้ เช่น ความขัดแย้งกับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หากไม่มีการสื่อสารที่เหมาะสม และเพียงพอกับบุคคลเหล่านั้น วิถีการดำเนินชีวิตถูกกระทบ เช่น ค่าครองชีพสูงขึ้น และการเวนคืนที่ดิน ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นคอขวด และมลพิษ เป็นต้น
เมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย มีโอกาสที่จะพัฒนาได้เนื่องจากมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- ความโดดเด่นทางกายภาพ เช่น ภูมิทัศน์ที่สวยงาม โครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ
- ทำเลที่ตั้งอยู่ในใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานในแต่ละพื้นที่
- มีผู้ประกอบการที่มีทักษะเชิงสร้างสรรค์
โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ดำเนินการโดยสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
- โครงการฝึกอบรมผู้บริหาร เศรษฐกิจสร้างสรรค์
- โครงการ Thailand.com
- โครงการ “Thai Creative Awards“
- โครงการ “Creative Mobile”
- โครงการ “Skill Mapping”
- โครงการ “Bangkok Music Showcase”
- การสัมมนา “Creative Unfold Symposium
เมืองสร้างสรรค์ของไทย
สำนักงานบริหารและพัฒนาความรู้ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัดประชาพิจารณ์ในหัวข้อ “กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างไร” เมื่อเดือน กรกฎาคม 2552 โดยได้ข้อสรุปจากการประชุมกล่าวคือ
- มุ่งเน้นสหสาขาเนื่องจากกรุงเทพฯ มีดีในเรื่องความหลากหลาย
- ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของกรุงเทพฯ
- ควรเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน
- โซนที่ควรพัฒนาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์คือ ย่านเมืองประวัติศาสตร์รอบพระบรมมหาราชวัง เยาวราช และพื้นที่สมัยใหม่ เช่น สุขุมวิท และสยาม

เชียงใหม่ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความเป็นเมืองสร้างสรรค์ เนื่องจากมีความพร้อมในแง่ของความงดงามทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ มีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และมีภูมิประเทศที่สวยงาม มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคม การศึกษา และยังมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในเชียงใหม่ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม สื่อสารมวลชน, การออกแบบ, สารสนเทศ เช่น ซอฟต์แวร์ มัลติมีเดีย และอนิเมชั่น

เพชรบุรี เป็นเมืองที่ได้รับการเสนอให้อยู่ในจังหวัดนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นเมืองสร้างสรรค์ในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีสถานที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น พระราชวังต่างๆ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นการทำขนมหวาน และอาหารท้องถิ่นต่างๆ

สำหรับกรณีศึกษาที่วิทยากรยกมานำเสนอเป็นตัวอย่างการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์โดยชุมชนเองได้แก่ ตลาดน้ำอัมพวา โดยมีการพัฒนาเนื่องมาจาก เกิดการอิ่มตัวของเมือง เพราะการสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลง เนื่องจากการพัฒนาถนนหนทาง คนหนุ่มสาววัยทำงานอพยพออกจากพื้นที่เหลือแต่ประชากรสูงอายุและเด็ก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้นำชุมชนเกิดวิสัยทัศน์ที่จะ “นำอัมพวากลับสู่การเป็นศูนย์กลางของการสัญจรทางน้ำ เช่นในอดีต โดยใช้ชุมชนเป็นพลังขับเคลื่อน” และในปัจจุบันอัมพวาก็มี “ตลาดน้ำตอนเย็น” (Evening Floating Market) เกิดขึ้นโดยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยว

ลักษณะเด่นทางภูมิศาสตร์ + ทุนทางสังคม → ตลาดน้ำอัมพวา
(Geographic Attributes) (Social Capital) (Amphawa Model)

เทคนิคในการสร้างตลาดน้ำอัมพวา ได้แก่ การกำหนดอัตลักษณ์เพื่อสร้างเศรษฐกิจของชุมชน การดึงแรงงานวัยหนุ่มสาวกลับมาในชุมชน และการใช้ชุมชนเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.brandage.com/Asset/BrandAge-Siamrath/03.pdf
www.creativethailand.org/th/articles/article_detail.php?id=30